PHIKANES2515

วันอาทิตย์ที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2557

จิตนาการสำคัญกว่าความรู้จริงหรือ?, เกิดมาเพื่อใช้เศษกรรม ตอนที่12 , การละเล่นของเด็กไทย, ณิคกี้หัวโจกพาเพื่อนเล่นเกมส์, การละเล่นเด็กไทยจากรุ่นสู่รุ่นที่เราควรถ่ายทอดต่อให้ลูกหลานในปัจจุบัน, เกมส์ออนไลน์มากมายจนเด็กสมัยนี้ลืมการละเล่นแบบโบราณไปแล้วหรือ?



ในสมัยที่ดิฉันยังเด็กๆ อยู่นั้น เคยได้ร่วมเล่นเกมส์การละเล่นแบบเด็กไทยสมัยโบราณกันอยู่เป็นประจำ โดยมีรุ่นพี่ๆ เล่นให้ดิฉันและเพื่อนๆ ในกลุ่มในก้วนดูเป็นแบบอย่างก่อน แล้วพวกดิฉันก็จะร่วมเล่นกับพวกพี่เขา ซึ่งตอนแรกๆ เราก็จะทำผิดๆ ถูกๆ เด๋อๆ ด๋าๆ ตามประสาเด็กหัดเล่น และต้องยอมเป็นตัวตลกก่อนที่จะเทิร์นโปรเฟสชั่นแนล (เล่นเก่งแบบมืออาชีพ..ว่าเข้านั่น) ทำให้มีการเล่นบ่อยๆ ฝึกฝนจดจำบ่อยๆ มีจินตนาการที่แยบยล หากต้องการเอาชนะรุ่นพี่ทีเมื่อก่อนเคยเป็นผู้สอนเรามา ไม่ว่าจะเป็น เล่นลูกช่วง สกา มอนซ่อมผ้า รีรีข้าวสาร งูกินหาง จ้ำจี่มะเขือเปาะ แมงมุมขยุ้มหลังคา จีจ้อจั๊บ งูสบัดหาง หมากเก็บ อีตัก เป่ากบ ดีดลูกแก้ว กระโดดเชือก ขี่ม้าส่งเมือง วิ่งกระสอบ ขี่ม้าก้านกล้วย อีโบ๊ะ (ไม้โผล๊ะ) ตีวงล้อ ลากกาบหมาก วิ่งเตย ตี่กอด ตี่จับ กาฟักไข่ โพงพาง ลิงชิงหลัก  ควายไถนา และเล่นขายหม้อข้าวหม้อแกง

ส่วนพวกเกมส์แบบฝรั่งที่เราก็ไม่ปฎิเสธ คือ พวกหมากรุก หมากฮอร์ส หมากหนีบ หมากข้าม ต่อโดมิโน่ ต่อมาพอเข้าโรงเรียนก็เริ่มฝึกบวกเลข โดยเล่นไพ่ผสมสิบ เป็นต้น จะเห็นว่า ดิฉันมีพัฒนาการตามยุคสมัยของเด็กไทยในยุคที่เริ่มเกิดมาตั้งแต่ปี 2515 ซึ่งสมัยนั้นนับว่าเป็นช่วงที่การเรียนการศึกษาของไทยเริ่มมีการเปลี่ยนแนวคิดแบบ "คิดเป็น ทำเป็น แก้ปัญหาเป็น"
เริ่มเรียนหลักสูตรใหม่ที่อาจารย์รัชนี ศรีไพรวรรณ ผู้แต่งหนังสือเรียน มานี มานะ ปิติ ชูใจ สีเทา และ เจ้าโต ในปี 2521 ให้พวกเราได้อ่านกันแบบเพลิดเพลินชวนติดตาม ค่อยๆ อ่านกลัวจะจบ ประมาณนั้นเลยค่ะ ไม่มีดอกค่ะ แทบเบ็ท ไอแพด ไอโฟน คอมพิวเตอร์ โน๊ตบุ๊ค  สมัยนั้นมีโทรทัศน์จอขาวดำ มีวิทยุทรานซิสเตอร์ ไว้เปิดฟังละครวิทยุก็โก้หนักหนาแล้วคร้า ด้วยวิวัฒนาการที่เราอยู่ไกลปืนเที่ยง ห่างไกลความเจริญว่างั้นเถอะ จึงทำให้เราได้เกม การละเล่นของเรานี่แหล่ะเป็นตัวสร้างความสนุกสนาน ทำให้ร่างกายสมบูรณ์แข็งแรง เล่นกันจนเหงื่อออกกันเต็มที่เพราะส่วนมากเราเล่นกันกลางสนาม กลางลานโล่งแจ้ง เล่นกันหลายๆ คน ทั้งสนุก ทั้งได้ใจกันและกัน ทำให้เราได้มีการฝึกสมอง การแก้เกม การฝึกคิดที่จะรุกจะรับจะถอยจะก้าวเดินเกมต่อ ด้วยการสังเกตความผิดพลาดในเกมก่อนๆ มา ได้ความรู้สึกผูกพันธ์เมื่อห่างไกลกันก็จะคิดถึงกัน แม้ว่าจะโตเป็นพ่อเป็นแม่ เป็นปู่เป็นย่า เป็นตาเป็นยายกันแล้วก็ตาม กลิ่นไอความรู้สึกประทับก็ยังคงอยู่ในใจผู้เขียนเสมอมิรู้ลืม และคิดว่านี่แหล่ะคือแรงพลักดันให้ดิฉันมี"สุดยอดจินตนาการ" จนมีเรื่องราวมาเล่าถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่นได้วันนี้นี่เองค่ะ 

เห็นไหมคะว่าเกม การละเล่นแบบเด็กไทยในสมัยก่อนๆ นั้น มีประโยชน์มากมายค่ะ แตกต่างกับเกมส์ในคอมพิวเตอร์ที่มีผู้คิดเกมส์มาให้เราเล่นตาม พอเล่นนานๆ ไปก็ไม่ชนะมันสักที ก็เครียด พอเครียดมากๆ ก็กินๆ ก็อ้วน แล้วยังส่งผลให้มีพฤติกรรมก้าวร้าว ชอบใช้ความรุนแรงกับคนรอบข้าง จิตใจคับแคบ เห็นแก่ตัวโดยที่เขาไม่รู้ตัวซะด้วยซ้ำไปค่ะ  ยังไม่สายนะคะ หากทางโรงเรียน และสถานบันต่างๆ ให้ความสำคัญกับการนำเกม การละเล่นเด็กไทยแบบโบราณนี้ไปบรรจุอยู่ในหลักสูตร ให้เด็กๆ ปัจจุบันนี้ได้รับรู้ว่า ผู้ใหญ่รุ่นก่อนๆ เขาเล่นอะไรกัน และใช้เวลาว่างทำอะไรกันบ้างในวัยเด็กบ้าง เพราะนี่คือ สิ่งที่สะท้อนถึงวิถีชีวิตของคนไทยอย่างแท้จริง  ณิคกี้/ผู้เขียน ภูมิใจมากๆ ที่ในช่วงหนึ่งของชีวิตได้มีโอกาสสัมผัสกับเกม การละเล่นเหล่านี้จริงๆ จังๆ กับหมู่พี่ๆ และเพื่อนๆ ตอนเด็กอย่างสุดแสนจะประทับใจ แม้ว่าหลังเลิกเล่นแล้ว จะได้แผลกลับไปทายาแดงมานับครั้งไม่ถ้วนก็ตาม ก็มันสนุกนี่นา...ไม่เชื่อน้องๆ หนูๆ ลองถามคนรุ่นพี่ ป้า น้า พ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย ดูเอาละกันค่ะ  รับรองท่านเล่าให้ฟังเยอะแยะมากมายแน่นอนค่ะ

ฝากข่าวประชาสัมพันธ์หน่อยนะคะ