PHIKANES2515

วันเสาร์ที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2555

กรรม กำหนด ชะตาชีวิตทั้งคนและสัตว์, ศรัทธาหัวเต่า, ศรัทธาห่อหมก, ศรัทธาฝนตั้ง, ศรัทธาตังเม, กฎแห่งกรรมมีจริงหรือ, ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว, รักดีหามจั่ว รักชั่วหามเสา, ธูปหอมบูชาพระ ต่อศรัทธาเพิ่มบารมีญาณ, ทำบุญทำทานกันก่อนที่จะสายดีไหม



วัน เสาร์ ที่ 15 กันยายน 2555 นี้ ตรงกับวันแรม 14 ค่ำ เดือน 9 ตรงกับวันพระ ดังนั้นดิฉันและสามีจึงได้ตั้งใจไปทำบุญที่สำนักปฎิบัติธรรมเขาพลูตาหลวง เช่นเคยค่ะ  และพระอาจารย์ก็ได้เทศนาธรรมให้ได้สดับกันระหว่างที่พระท่านตักอาหารใส่บาตร หลังจากที่ญาติโยมประเคนถวายเรียบร้อยแล้ว  โดยพวกเราก็นั่งสมาธิรับฟังการเทศนากันเงียบๆ ดังมีหัวข้อธรรมะดังนี้

ศรัทธาหัวเต่า คือ ผู้ที่มีความศรัทธาไม่คงเส้นคงวา พลุบๆ โผล่ๆ เหมือนหัวเต่า เดี๋ยวทำบุญ เดี๋ยวไม่ทำบุญ ชอบพลัดวันประกันพรุ่งเสมอ  ดังนั้นก็ไม่ต้องแปลกใจดอกว่า ทำไมชีวิตถึงได้อะไรมาสักอย่างช่างยากเย็นนักนะ
ศรัทธาห่อหมก คือ เปรียบเหมือนกับว่าคนที่จะทำบุญได้ทั้งทีต้องมีการกล่าวสรรเสริญเยินยอ ว่าหากทำบุญแล้วจะดีอย่างนั้นอย่างนี้ คิดทำเองไม่ได้ เหมือนดังชื่อ"ใบยอ" ที่เขานำมาใส่ในห่อหมกนั่นเอง คนประเภทนี้ชอบทำบุญเอาหน้าเอาตาก็ว่าได้ ชอบให้คนพูดชี้นำว่าดีอย่างนั้น อย่างนี้ ถึงจะตกลงปลงใจก้าวเข้าประตูวัดไปทำบุญทำทาน
ศรัทธาฝนตั้ง ฝนตก คือ ผู้ที่มีความเชื่อ ความศรัทธาเลื่อนลอยเหมือนเมฆฝน ลังเล โลเล จะทำบุญไม่ทำบุญดี เอาแน่เอานอนไม่ได้ จนทำให้คนลักษณะนี้ขาดความน่าเชื่อถือในสังคมได้ง่าย เพราะเวลาเพื่อนชวนทำบุญ ตอนแรกก็เหมือนจะตั้งใจไปทำ แต่สุดท้ายก็อ้างโน้นติดนี้จนท้ายที่สุดก็ไม่ได้ไปจริงๆ
ศรัทธาตังเม คือ ผู้ที่มีความตระหนี่ถี่เหนียวในการทำบุญ คิดมาก คิดมาย คิดเยอะ กว่าจะก้าวเข้าไปในสถานธรรม จนเหมือนกับคนห่างวัดไกลวาไปในที่สุด คนประเภทนี้จะได้อะไรมาให้กับตนเองต้องได้มาแบบยากสุดๆ

ความเชื่อในเรื่องกรรม

ตามคำสอนในพุทธศาสนา ชาวพุทธควรมีศรัทรา 4 อย่าง คือ
1.    ตถาตโพธิสัทธา : เชื่อในการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า คือ เชื่อว่าพระพุทธเจ้าตรัสรู้จริง เป็นผู้ประกอบด้วยพระปัญญาธิคุณ พระวิสุทธิคุณ และพระมหากรุณาธิคุณ
  2.  กัมมสัทธา : เชื่อเรื่องกรรม คือ เชื่อว่ากรรมมีจริง
  3.  วิปากสัทธา : เชื่อเรื่องผลของกรรม คือ เชื่อว่ากรรมที่บุคคลทำไม่ว่าดีหรือชั่ว ย่อมให้ผลเสมอ
  4.  กัมมัสสกตาสัทธา : เชื่อว่าสัตว์มีกรรมเป็นของตน คือ เชื่อว่าผลที่เราได้รับเป็นผลแห่งการกระทำ
      ของเราเอง ซึ่งอาจจะเป็นกรรมที่ทำในปัจจุบันชาติหรืออดีตชาติ

          หลายคนคิดว่ากฎแห่งกรรมไม่มีจริง จนถึงกับประชดประชันว่า ทำดีได้ดีมีที่ไหน ทำชั่วได้ดีมีถมไป ด้วยเห็นว่าคนทำกรรมชั่วได้รับผลเป็นคนร่ำรวย เป็นคนมีวาสนา มีคนเคารพยกย่อง ตรงข้ามกับคนที่ทำงานด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต ขยันขันแข็ง กลับต้องมีชีวิตที่ยากลำบาก หรือคนที่ทำงานไม่เป็น เลี่ยงงาน ประจบสอพลอ กลับได้เลื่อนขั้น เลื่อนตำแหน่ง

          กรรมให้ผลไม่เหมือนกัน ให้ผลทันเวลาและให้ผลระยะยาวต่อไป ฉะนั้นทุกคนจึงมีโอกาสรับกรรมไม่เหมือนกัน ความดีที่ทำไว้ครั้งนั้นยังมาไม่ถึง ความชั่วหนักกว่าก็มาให้ผลก่อน ส่วนความดีนั้นเขาก็จะให้ผลในภายหลัง

          คนที่เชื่อเรื่องกรรม ย่อมสามารถอดทน ยอมรับความทุกข์ยากลำบาก ความผิดหวัง ขมขื่น และเคราะห์ที่เกิดแก่ตนได้ ไม่ตีโพยตีพายว่าโลกไม่มีความยุติธรรม ทำดีต้องได้รับผลดีแน่นอน และทำชั่วก็จะได้รับผลชั่วอย่างหนีไม่พ้น กรรมบางอย่างอาจให้ผลในชาตินี้ บางอย่างอาจให้ผลในชาติหน้า หรือชาติต่อๆไป เช่นเดียวกับการปลูกพืชบางอย่างให้ผลในไม่กี่เดือน บางอย่างก็เป็นปี

          ดังนั้นเมื่อท่านใดที่เข้าใจถึงสิ่งที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านได้สื่อเกี่ยวกับเรื่อง บาป บุญ คุณ โทษ ให้พวกเราได้ทราบถึงกฎแห่งกรรมแล้ว  หากท่านใดน้อมนำไปปฎิบัติจริง แน่นอนผลของการปฎิบัติดีปฎิบัติชอบย่อมส่งผลดีๆ แก่ทุกท่านแน่นอนค่ะ










         



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น