PHIKANES2515

วันเสาร์ที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2553

เกิดมาเพื่อใช้เศษกรรม ตอนที่ 5 "เล่นขายหม้อข้าวหม้อแกง"

เวลาคนในวัยผู้ใหญ่ทำอะไรไม่เป็นชิ้นเป็นอัน สักแต่ว่าทำไปวันๆ เรามักจะได้ยิน "คำอุปมาอุปมัย" ว่า  ทำอะไรเหมือน "เล่นขายหม้อข้าวหม้อแกง" แบบเด็กเล็กๆ เขาเล่นกัน  ทำให้ฉันอดนึกถึงวัยเด็กไม่ได้  เพราะตอนวัยก่อนเข้าโรงเรียนประถม หรือแม้แต่อยู่ราว ป.1 - ป.2 แล้วหากมีเวลาว่าง  พวกฉันก็ยังอดชวนกันไปเล่นไม่ได้เลย  มันทั้งสนุก ใช้จินตนาการแบบผู้ใหญ่โดยที่เรายังเป็นเด็กนี่แหล่ะ ซึ่งพวกเราจะหาลูกสุนัขมาสมมติเป็นลูก  หากล้วยมาป้อน หาน้ำข้าวที่หุงแบบเช็ดน้ำ คือ รินน้ำข้าวหลังข้าวสุก ก่อนจะนำไปดงอีกรอบบนเตาฝืนให้ข้าวแห้งโดยใช้ไม้ขัดหม้อข้าวไปขัดที่ฝาหม้อด้วย  เราจะนำน้ำข้าวมาป้อนลูกสุนัขให้มันกินแทนนม  แล้วเวลาเราจะซื้อของที่ร้านเพื่อนๆ เราจะหาซองบุหรี่ที่เขาทิ้งตามตลาดวัด หรืองานวัด มาคลี่ออกเป็นแผ่น แบ่งสีให้เป็นมูลค่าตามสีแบงค์จริงๆ เช่น ถ้าเป็นบุหรีกรองทิพย์สีแดง ฉันจะสมมติเป็นแบงค์ร้อย  หากเป็นซองบุหรีสายฝนสีเขียว ฉันก็จะใช้เป็นแบงค์ยี่สิบ  และถ้าเป็นเหรียญเราจะหาฝาเบียร์ หรือเปลือกหอยแครงมาแทน เป็นต้น และภาชนะที่จะทำเป็นหม้อข้าวหม้อแกงนั้น  เราจะหากะลามะพร้าวที่แม่นำไปขูดทำกับข้าวแล้วมาขัดๆ ให้ด้านในเกลี้ยง  แล้วนำช้อนเก่าๆ ที่เริ่มเป็นสนิมที่ไม่ใช้แล้วมาเป็นทัพพี  หาขี้ฝุ่นใต้ถุนบ้าน หน้าลานบ้านบ้างมาป่นให้ละเอียดแล้วนำมาใส่ในกะลาเอาน้ำมาเทใส่ให้พอละลายได้ เสร็จก็ ทำหลุม บนพื้นดิน สมมติว่าเป็น ถาดขนมครก แล้วก็หยอดดินที่ผสมน้ำแล้วนั้นลงหลุม รอจนแห้ง  เราก็จะได้ก้อนขนมครกแบบต่างๆ ตามจินตนาการเรียบร้อยแล้ว  หากวันไหนต้องการจะทำผัดผักละก็ไม่ยาก  เราจะเด็ดใบไม้มาหั่นเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยใส่สีสรรด้วยสีดอกไม้สีสดใสหลายหลากสีเพิ่มความน่ากิน  เพื่อเชิญชวนให้เพื่อนตัดสินใจไม่ยากที่จะนำสตางค์แบงค์ของพวกเขานำมาจ่ายเพื่อซื้อขนมหรือกับข้าวของเราแล้วละ สรุป เราก็รวยได้ตั้งแต่วัยเด็กตามความคิดของเรา  จะเห็นว่าสมัยเมื่อ 30 กว่าปีนั้น  ฉันและเพื่อนใช้จินตนาการในการคิดเกมส์เล่นเกมส์กันเอง  ผิดไปจากสมัยนี้ที่เด็กๆ จะเล่นตามตู้เกมส์ที่เขาคิดให้แล้ว และต้องเสียเงินไปเล่น  มันผิดกันหน้ามือเป็นหลังมือ  นี่กระมังที่เขาว่า ยุคสมัยมันเปลี่ยนไปตามกาลเวลา  ดังนั้นพัฒนาการของเด็กในสมัยก่อน กับในสมัยนี้จึงมีความคิดไม่ค่อยจะลงกันเลย สรุปว่า  พ่อแม่สมัยนี้ กับลูกๆ มักจะมีช่องว่างทางความคิดที่แตกต่างกันเพราะโตมาในสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกันนั่นเอง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น